ผมเองมีโอกาสได้นำเสนอภาพรวมบริษัทกับนักลงทุนอยู่บ้าง ไม่ได้มีประสบการณ์มากมายแต่ก็พอเข้าใจกระบวนการในการพิจารณาเลือกของคนกลุ่มนี้ แน่นอนว่าทุกคนอยากลงทุนในสตาร์ทอัพที่จะเติบโตยิ่งใหญ่ มีรายได้และกำไรมากมาย รวมถึงสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่า แต่เท่าที่ผมสัมผัสมาหลายคร้ังมีบางอย่างบอกผมว่าบางคนก็ตั้งคำถามผิดไปสักหน่อย
หมายเหตุ: ผมได้รับคำปฏิเสธมานับครั้งไม่ถ้วนจากนักลงทุนบุคคลและนักลงทุนแบบองค์กร 🙅🏼♂️ 🙅♀️ ผมไม่ได้จะบอกว่าพวกเขาเหล่านั้นคิดผิด แต่มันเป็นเพียงแค่ข้อสังเกตของผมครับ
เมื่อวานได้อ่านบทความของพอล แกรแฮม (ตำนานนักลงทุนในสตาร์ตอัพ) อีกรอบหนึ่งแล้วมาสะดุดตรงประโยคที่ว่า
กับสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้นแล้ว คำถามที่เหมาะสมไม่ใช่ว่า “บริษัทนี้จะครองโลกได้หรือไม่?” แต่เป็นที่ว่า “บริษัทนี้จะใหญ่ได้แค่ไหนถ้าผู้ก่อตั้งทำสิ่งที่ถูกต้อง?” – พอล แกรแฮม
เหมือนจะจริงนะครับ ถ้านักลงทุนพยายามหาคำตอบว่า “บริษัทนี้จะครองโลกได้หรือไม่” กับบริษัทที่กำลังก่อร่างสร้างตัว … คำตอบน่าจะไม่เป็นที่น่าพอใจสักเท่าไร เพราะการครองโลกเป็นยิ่งกว่าการปีนเขาเอเวอเรสอีก ไม่มีสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จรายไหนที่เกิดมาแล้วจะครองโลกได้ด้วยตัวเองในเวลาอันสั้น ใครที่ตั้งเป้าหมายวันแรกว่าจะครองโลกคือผิดตั้งแต่เริ่มต้น บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ครองโลกในวันนี้เคยเป็นสตาร์ทอัพที่เริ่มต้นเล็กๆมาด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊กกับนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อะเมซอนกับเวปไซต์ขายหนังสือ หรือแอร์บีเอ็นบีกับเจ้าของบ้านและห้องพักในซานฟรานซิสโก
คำถามที่น่าสนใจ (และสร้างสรรค์) กว่าคือ “ถ้าทีมนี้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ไอเดียหรือสตาร์ทอัพของพวกเขาตอนนี้จะเติบโตไปได้แค่ไหน?” มันเป็นคำถามที่วัดศักยภาพของบริษัทสตาร์ทอัพในช่วงเริ่มต้นได้ดีกว่า มันเป็นคำถามปลายเปิดที่ช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ในหลายๆด้านที่ส่งผลต่อความอยู่รอดและความเติบโตของสตาร์ทอัพนั้น
โอกาสทางตลาดใหญ่แค่ไหน? ทีมงานมีความสามารถแค่ไหน? เทคโนโลยีเป็นอย่างไร? คู่แข่งและสินค้าทดแทนมีมากแค่ไหน? ตอนนี้คือช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่?
การตอบคำถามเหล่านี้จะวาดภาพอนาคตที่สร้างสรรค์ขึ้นมา เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะครองโลก แต่เรากำลังพยายามทำหลายๆสิ่งให้ถูกต้องที่สุดเพื่อทำให้บริษัทของเราไปถึงศักยภาพที่มันมีหรือเป็นได้อย่างมั่นคง แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกสตาร์ทอัพจะมีศักยภาพ หรือไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีความคิดเห็นเดียวกันเมื่อพูดถึงคำว่าศักยภาพ แต่สำหรับผมแล้วมันคือการประเมินที่ยุติธรรมกว่าคำว่า “ครองโลก” หรือ “รายได้กับกำไรในตอนนี้และระยะสั้น”
ผมผิดพลาดมาเยอะ และถูกปฏิเสธมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ผมก็ยังหน้าด้านและพร้อมรับคำปฏิเสธต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ฮ่าๆๆ 😂 เพราะในฐานะที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น … ก็จะมีเฉพาะคนที่เข้าใจและเชื่อมั่นในสิ่งที่พวกผมทำจริงๆเท่านั้นที่จะมองเห็นศักยภาพในบริษัทนี้ ใครที่อยากให้ผมครองโลก อยากได้รายได้กำไรและส่วนแบ่งแบบรวดเร็วทันใจ … ผมทำให้ไม่ได้แน่นอนและผมก็ไม่อายที่จะบอกพวกเขาไปตรงๆแบบนี้ 👋🏼
Pingback: ✍🏼 สิ่งที่มาพร้อมเงินลงทุน – ปิโยรส – ธุรกิจ, สตาร์ทอัพ, ซอฟต์แวร์